Behind the Colorway! The Theory of Sneaker Colorways

ชื่อสีมันมีอะไรมากกว่านั้น! หลักการตั้งชื่อ Colorway ของแบรนด์รองเท้าผ้าใบ

04/03/2023

...

ในโลกของแฟชั่นสนีกเกอร์ว่ากันว่า ‘สี’ เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการบ่งบอกตัวตนของรองเท้าผ้าใบเลยก็ว่าได้ เพราะการที่เราจะโดนใจกับรองเท้าผ้าใบสักคู่สิ่งแรกที่จะมองเป็นปัจจัยหลักในตัดสินใจซื้อก็คงจะเป็นสีและตัวดีไซน์นี่แหละที่มีส่วนสำคัญ นอกจากนั้นในทางจิตวิทยาการของตั้งชื่อสีรองเท้านั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ‘ชื่อเรียกสีของรองเท้า’ เปรียบเสมือนเป็นอวัจนภาษาหรือเป็นตัวแทนของการบอกเล่าเรื่องราวหรือคำจำกัดความของคู่สีที่ใช้บนรองเท้าคู่นั้น จะเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า Colorway ก็ย่อมได้ แทนที่จะตั้งชื่อเป็นชื่อสีธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น รองเท้าผ้าใบ Nike รุ่น Air Jordan 1 Chicago ที่มีการใช้คู่สีเป็น สีแดง สีดำ สีขาว แบรนด์ก็เปลี่ยนการเรียกชื่อสีธรรมดาทั่วไป เป็นชื่อสีใหม่ว่า Chicago แทน ซึ่งเป็นเหมือนการให้จินตภาพบวกกับหลักจิตวิทยาว่าถ้าหากคุณเห็นชุดคู่สีนี้จะต้องนึกถึงเมือง Chicago นั่นเอง

...
ทฤษฎีเรื่องสีและความรู้สึก

ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายดีไซน์สีของแบรนด์ Nike มีชื่อว่า Jaana Beidler เธอได้กล่าวว่า ‘สีเป็นเหมือนภาษาที่ใช้สื่อสารได้’ เป็นภาษาที่ไม่ต้องใช้คำพูดอะไรแต่สามารถเชื่อมถึงสัญชาตญาณและความคิดเราได้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงสื่อถึงอารมณ์ที่หลากหลายด้วย เช่นเดียวกับหลักจิตวิทยาของสี (Color Psychology) ที่มีผลต่อการรับรู้ทางจิตใจของมนุษย์และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการตั้งชื่อสีของสนีกเกอร์ได้ ซึ่งหากเลือกคำนิยามของสีที่เหมาะสมนั้นจะช่วยให้การสื่อความหมายและการสร้างจินตภาพของสสามารถทำได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งชื่อเรียกของสีรองเท้าผ้าใบนั้นมีอิทธิพลมากกว่าที่คิด เรามักจะเคยได้ยินคำถามแบบนี้อยู่บ่อยๆ ว่า “ชอบสีอะไร” และแน่นอนว่าแต่ละคนก็มีมีสีที่โปรดปรานต่างกันออกไป และรู้ไหมว่าอะไรที่ดลจิตดลใจให้เราสะดุดตากับชื่อเรียกของสีสนีกเกอร์ หรือ Colorway ของรองผ้าใบคู่นั้นๆ บทความต่อไปนี้จะบอกให้คุณรู้ว่าทำไม “การตั้งชื่อสีรองเท้าผ้าใบ” ถึงส่งผลต่อความรู้สึกของคนทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

จิตวิทยาลับในการตั้งชื่อสีของสนีกเกอร์

จากภาพตัวอย่างจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสีของรองเท้าไม่ได้เป็นสีพื้นๆ ธรรมดาอีกต่อไป แต่ยังมีสีที่เกิดใหม่อีกมากมาย และทำให้การตั้งชื่อเรียกของสีสนีกเกอร์ในยุคนี้มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็น Aqua blue (สีฟ้าน้ำทะเล) Acid Lime (สีเขียวมะนาว) หรือจะเป็น Neon pink (สีชมพูนีออน) ชื่อเรียกของสีเหล่านี้ถูกนิยามขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ จากการออกแบบผสมสีใหม่ของรองเท้าผ้าใบหลายๆ แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Adidas, New balance หรือ Nike ซึ่งในยุคนี้การที่เราจะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในการหาแรงบันดาลใจและสิ่งขับเคลื่อนให้กับของแบรนด์ก็สามารถหาได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ค่านิยมในวงการรองเท้าผ้าใบต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดที่นอกจากจะแข่งกันเรื่องดีไซน์ เทคโนโลยี เรื่องเฉดสีก็ไม่น้อยหน้า ทำให้แบรนด์รองเท้าต่างๆ จำเป็นต้องนำศิลปะแบบเก่าหรือจิตวิทยาเรื่องการใช้สีมาเป็นตัวช่วยในการออกแบบมากขึ้นหรือก็คือ การนำ “ทฤษฎีสี” มาปรับใช้นั่นเอง ซึ่งความเชื่อมโยงระหว่างสีกับอารมณ์ได้ถูกศึกษามานานหลายศตวรรษแล้วโดยนักจิตวิทยานามว่า Carl Jung ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกหรือบุคลิกต่างๆ มาจากสีที่เห็น ตัวอย่างเช่น บริษัทยาจะกำหนดสีของยาให้มีสีโทน "เย็น" หรือ "ร้อน" ตามผลลัพธ์ที่ต้องการ หากเป็นยากล่อมประสาทมักเป็นสีน้ำเงินหรือเขียว ส่วนยารักษาอาการซึมเศร้าก็จะเป็นสีเหลืองนั่นเอง จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแบรนด์รองเท้าผ้าใบจำเป็นต้องมีแผนกที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการออกแบบและการตั้งชื่อเฉดสี

แบรนด์ดังกับหลักการตั้งชื่อสี

Jenny Ross หัวหน้าฝ่ายออกแบบแนวคิดและกลยุทธ์สำหรับรองเท้าไลฟ์สไตล์ของ New Balance กล่าวว่า “ระหว่าง 70% - 90% ของการตัดสินด้วยจิตใต้สำนึกต่อผลิตภัณฑ์หนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากสีเพียงอย่างเดียวภายในเวลาไม่กี่วินาที” ซึ่งเป็นอะไรที่ทรงพลังมาก อย่างตัวตนของแบรนด์ New Balance นั้นก็มีชุดสี หรือ colorway ที่เป็นเอกลักษณ์เมื่อนึกถึงนิวบาลานซ์จะต้องนึกถึงชุดสีอย่าง สีเทา สีขาว ซึ่งบ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นรองเท้าวิ่งในเมืองสามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาส หรือถ้าเป็นเป็นแบรนด์ Nike ก็มักจะตั้งชื่อสีที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของบางสิ่งบางอย่างได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น รองเท้ารุ่น Nike Dunk SB High Ferris Bueller ซึ่งรองเท้าคู่นี้ใช้ชื่อสี ‘Ferris Bueller ’ เป็นการบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ในการแต่งกายของตัวพระเอกในเรื่องอย่าง Ferris Bueller's Day Off โดยการใช้ Colorway ในโทนที่เน้นไปทางสีขาว สีน้ำตาล และสีครีม ซึ่งหากใครนึกถึง "เฟอร์ริส" พระเอกของเรื่องก็ต้องนึกถึงสามสีนี้อย่างแน่นอน แต่สำหรับใครที่ไม่คุ้นหูนักก็ไม่ได้น่าแปลกใจอะไร เพราะภาพยนต์เรื่องนี้ถือว่าเป็นภาพยนตร์ชีวิตวัยรุ่นที่โด่งดังที่สุดสำหรับฝั่งอเมริกานั่นเอง

สรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือจิตวิทยาและหลักการตั้งชื่อสีของรองเท้าสนีกเกอร์ที่ SASOM ได้ยกตัวอย่างของแบรนด์ดังต่าง ๆ มาอธิบายให้ทุกคนได้อ่านแบบคร่าวๆ ไม่ว่าจะเป็น Nike, Adidas, New balance ว่าจริงๆ แล้วหลักการตั้งชื่อสีก็สามารถชวนให้เรานึกถึงหรือจิตนาการไปตามอารมณ์ของความหมายนั้นๆ ได้ และทำให้รู้สึกว่ามันมีอะไรมากกว่าที่คิดหากคุณรู้ความหมายของมันนั่นเอง