Proud your Life, Pride your Style

Pride Month | มองโลกที่เปลี่ยนไปใต้ผืนธงสีรุ้ง !

02/06/2022

...

แน่นอนว่า สีสันแห่งเดือนมิถุนายน จะงดงามได้ก็ด้วยสีรุ้งที่พวยพุ่งจากทั่วทุกมุมโลกในนามเทศกาล Pride Month มวลเราเหล่าชาว LGBTQIA+ จะได้เฉลิมฉลองอย่างภาคภูมิแก่ ความเจริญรุ่งเรืองด้านสังคมและวัฒนธรรมของชาวเพศวิถี หากกล่าวถึงธงสีรุ้งและความรัก… แน่นอนว่า รักนั้นไม่มีข้อจำกัดทางเพศ แต่กว่าจะได้มาซึ่ง ธงสีรุ้งนี้ ต้องผ่านเรื่องราวใดมาบ้าง วันนี้ SASOM (สะสม) เราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประจักษ์พยานที่ว่า “รักไร้ขอบเขต กำแพงเพศไม่อาจกั้น” พร้อมพาทุกคน ไปตีแผ่เรื่องราวใต้ผืนธงสีรุ้งนี้ ซึ่งกว่าจะโบกสะบัดตระหง่านสูงได้ดังปัจจุบัน ก็ล้วนแต่ผ่านการชะโลมด้วยหยาดเหงื่อ หยดน้ำตา และถ้อยคำก่นด่า มานับไม่ถ้วน

ต้นกำเนิด The Rainbow Flag หรือ ธงสีรุ้ง

หากกล่าวถึงตำนานโดยละเอียด คำตอบอาจยังครุมเครืออยู่ในม่านหมอก บ้างก็ว่ามาจากหนังสือเรื่อง The Rainbow has Seven Colors ของ D.H Lawrence หรือบ้างก็ว่ามาจากบทเพลง Somewhere over the Rainbow แต่ที่เห็นเป็นประจักษ์แท้กว่าอื่นใด นั่นคือ ขบวน Pride Parade ในกรุงนิวยอร์ก ประจำปี 1978  ณ ห้วงเวลานั้น ธงสีรุ้งได้โบกพลิ้วละลิ่วลมทั่วมหานครใหญ่ ด้วยฝีมือของนักออกแบบนามว่า Gilbert Baker แม้ว่าเขาจะไม่ออกมากล่าวว่าสิ่งใดดลใจ แต่สัญลักษณ์นั้นก็เริ่มกลายตัวแทนสื่อใจของเหล่า LGBTQIA+ นับแต่นั้นเป็นต้นมา แรกเริ่มเดิมที สีสันบทธงนั้นมีทั้งหมด 8 สี ได้แก่ แดง ชมพู เหลือง เขียว ส้ม ม่วง ฟ้าเทอควอยซ์ และน้ำเงิน ทว่าเพื่อให้ผลิตได้จำนวนทีละมากๆ จึงเป็นผลให้ต้องตัดทอน 2 สีออกไป ได้แก่ สีชมพูและสีฟ้าเทอควอยซ์ จึงถูกตัดออกไปเหลือเพียงหกสี กระนั้นแล้ว สีที่ถูกตัดทอนออกไป ก็ไม่อาจลบเลือนจิตวิญญาณแห่งการเรียกร้องสิทธิของเหล่า LGBTQIA+ ได้ “ธงสีรุ้ง” ก็ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางเพศ ตลอดจนพร้อมปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมแก่ยุคสมัยอยู่เสมอ ดังเช่นธงเวอร์ชั่นที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งมีเพิ่มเข้ามาอีก 5 เฉดสี ได้แก่ สีน้ำตาล-ดำ และสีฟ้าอ่อน-ชมพู-ขาว เช่นเดียวกันกับงานศิลป์ ธงผืนนี้ย่อมมีความหมายซุกซ่อนอยู่ ด้ายแต่เฉดสีเรียงร้อยถักทอเป็นแถบสี ผสานกันเป็นธง และสลักเสลาด้วยความกล้าหาญเพื่อเรียกร้องสิทธิ LGBTQIA+ ให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า “เราเท่ากัน”

...
‘สีแดง’ แทนชีวิต : สู้ไม่ถอย เพื่อชีวิต LGBTQIA+ ที่ดีกว่าเดิม

เมื่อสีแดงเป็นดั่งชีวิต แต่ไยสังคมถึงลิขิตให้ไม่เท่ากัน… ชายหญิงต้องรักกัน นอกเหนือจากนั้นไม่ได้ ความรักที่ไม่เป็นไปดังสังคมคาดหวังไว้ นั่นไม่ถูกต้องงั้นหรือ? ใครเขียนไว้ว่ารักนั้นควรเป็นเช่นไร ถูกหรือไม่ผู้ใดเป็นคนตัดสิน? ในเมื่อความรักไม่มีขอบเขต พิธีการสำคัญด้านความรักอย่าง “งานแต่งงาน” ก็ไม่ควรถูกจำกัดไว้แค่ในชายและหญิงเท่านั้น ความรักของเหล่า LGBTQIA+ ก็ควรได้รับการปกป้องตามกฎหมายเช่นเดียวกัน หรือหากกล่าวถึงเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับชีวิต การใช้ชีวิตของ LGBTQIA+ เองก็เป็นอีกประเด็นที่น่าถกมิใช่น้อย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราต่างรับฟังและรับรู้ถึงข่าวที่บุคคล LGBTQIA+ ถูกควบคุมแบบกลายๆ จากสังคม ไม่ว่าจะเป็น การติฉินนินทา การว่าร้าย ตลอดจนการถูกกลั่นแกล้งหรือที่เราเรียกกันจนชินปากว่า บูลลี่ (Bully) ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมสีแดงจึงหมายถึงชีวิต? เราเกิดมาเป็นคน เป็นมนุษย์เหมือนกันทุกคน ไม่ว่าจะชาย หญิง หรือเพศใด แม้จะมาจากซีกไหนของโลก เราก็ต่างก็มีเลือดเป็นสีแดงเช่นกัน เราจึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในทุกมิติ ทั้งในแง่กฎหมายและแง่ปฏิบัติ

...
’สีส้ม’ แทนการเยียวยา : สนุกสนานและสร้างสรรค์ด้วยการเป็นตัวเรา

ตามหลักทฤษฎีของสี ‘สีส้ม’ นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง ความสนุกสนาน และความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น ในช่วงเทศกาล Pride Parade เราจะได้เห็นกิจกรรมและการเรียกสิทธิที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็สอดแทรกความแข็งแกร่งไว้อย่างเต็มภาคภูมิ ท่ามกลางขบวนพาเหรดที่สีสันละลานตานี้ เราก็เห็นความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าที่พวยพุ่ง ผ่านเสื้ออาภรณ์ที่วิจิตร ป้ายรณรงค์ที่ทรงพลัง ทั้งด้านความสวยงามและเนื้อความ เสียงเพลง ท่วงทำนองลีลาการร้องเล่นเต้นรำ ซึ่งแสนรื่นเริง หากถามว่า ความอลังการงานสร้างทั้งหมดทั้งมวลนี้ เกิดจากสิ่งใด ? เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความเป็นตัวเองของเหล่า LGBTQIA+ ได้ทำให้เกิดพาเหรดที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งการขับเคลื่อนนี้เอง SASOM (สะสม) เองก็ขอสนับสนุนให้ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็ตาม ขอแค่คุณเป็นตัวของตัวเอง ทำอะไรตามหัวใจ ตามฝัน ตามตัวตนของคุณ และนั่นจะเป็น Best Version ของคุณแน่นอน

...
’สีเหลือง’ แทน แสงอาทิตย์ : วลีแห่งยุค แนวคิดแห่งสมัย และมุมมองใหม่ๆ ที่โชติช่วงดั่งดวงตะวันจากเหล่า LGBTQA+

ดังวลีภาษาละตินที่ว่า ’Non sine sole iris’ อันหมายถึง ‘หากไร้ซึ่งแสงอาทิตย์ ก็ย่อมไร้สายรุ้งงาม’ เป็นประโยคที่เข้ากับเฉดสีลำดับที่สามของธงสายรุ้งได้อย่างดี เพราะสีเหลืองในธงรุ้งนั้นแทนแสงอาทิตย์ อีกทั้งยังเป็นสีแห่งความกระจ่างชัด ความเป็นระเบียบ และพลังงาน แน่นอนว่า กว่าจะเป็นสายรุ้งโดยสมบูรณ์ได้ แสงอาทิตย์ก็เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าให้พูดถึงความโชติช่วงชัชวาลของแสง ก็ย่อมมาควบคู่กับไอเดียใหม่ๆ องค์ความรู้ และสติปัญญา นอกจากเอเนอร์จี้ที่ล้นเหลือของเหล่า LGBTQA+ แล้ว หากลองตั้งข้อสังเกต เวลาเราถกเถียงหรือสนทนาพาทีกับพวกเขา เรามักจะได้แนวคิด มุมมองใหม่ๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่ที่โดดเด่นมากที่สุด เห็นทีคงต้องมอบให้เรื่อง “วลีแห่งยุค” … ต๊าชช, สุดปัง, บ้ง, สมมง และอื่นๆ อีกมากมาย หากลองสังเกต วลีหรือแสลงในยุคปัจจุบัน เกินครึ่งนั้นมาจากเหล่า LGBTQIA+ เป็นผู้ริเริ่ม ด้วยความเฉลียวฉลาด หัวไว กระบวนการคิด ตลอดจนทักษะภาษาที่โดดเด่นโดนใจผู้คน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ LGBTQIA+ จะเป็นผู้นำความคิดในด้านต่างๆ หรือแม้แต่สายงานศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการแฟชั่นทั้งไทยและเทศ ทุกคนก็ล้วนต่างยอมรับในผลงานฝีมือตัวพ่อ ตัวแม่ทั้งหลายว่า เด็ดขาดและเฉียบแหลม ด้วยประการฉะนี้เอง เราจึงพออนุมานได้เลยว่า แถบสีเหลืองนั้นควรค่าแก่การอยู่บนธงสีรุ้งอย่างแท้จริง

...
’สีเขียว’ แทนธรรมชาติ : ความงามโลกที่เรารักษ์ ทุกสิ่งสรรพล้วนเป็น “ธรรมชาติ”

อีกหนึ่งเฉดสีที่อยู่ตรงกลางของธงสีรุ้งผืนนี้ มีความสลักสำคัญเป็นอย่างมาก หากขาดสิ่งนี้ไป ก็ย่อมไม่มีสิ่งใดงอกเงยได้ในโลกใบ นั่นก็คือ สีเขียว อันหมายถึง ธรรมชาติ… การที่สีเขียว เพื่อให้ทุกคนอนุรักษ์และตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีส่วนช่วยเอื้ออำนวยในการสร้างสรรค์ ให้โลกใบนี้งดงามตามแบบฉบับของมัน ว่าแต่ ความงามของโลกใบนี้คือสิ่งใด?… จะเป็นชาย หญิง เกย์ เลสเบี้ยน หรือเพศอื่นๆ ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ “โลกใบนี้จะไม่งดงามเลย หากมีเพียงแค่แสงอาทิตย์… เมฆ ฝน หิมะ ทุกสิ่งอยู่ผสมรวมกัน ถึงจะเรียกว่าความงามของธรรมชาติ” ดังนั้น ‘ความหลากหลาย’ คือธรรมชาติที่งดงามที่สุดของโลกใบนี้ ดังชื่อบทความที่ว่า “เพราะรักก็คือรัก” การตกหลุมรักและการได้รัก ไม่ว่าจากเพศใดก็ตาม ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกใดๆ แม้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หลายคนจะยอมรับว่า กำแพงทางเพศได้ทลายลงแล้ว ยังมีอีกมากที่รังเกียจเพศวิถี ยังมีอีกหลาย แต่อยากบอกว่า “สิ่งที่คุณเป็น ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องปกติ”

...
’สีน้ำเงิน’ แทนความสงบและความสามัคคี : การถูกกีดกัน กลั่นแกล้ง และการเดินหน้าร่วมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

“เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย” “เป็น ตุ๊ด/เกย์/ (และเพศอื่นๆ) หรอ” คำถามเหล่านี้ ชาว LGBTQIA+ ต้องเคยโดนถามสักครั้งหนึ่ง คำถามอาจมาจากปากของเพื่อน หรือแม้แต่ครูอาจารย์ เพียงคำถามเล็กน้อยนี้ก็อาจนำไปสู่การถูกระรานได้ บ้างอาจถูกกีดกันหรือเนรเทศออกจากกลุ่มไป บ้างอาจถูกทำร้ายร้าย บ้างอาจถูกนินทา ดังเช่นสถิติของ BBC (2018) ที่กล่าวไว้ว่า ‘1 ใน 3 ของเด็กนักเรียน LGBTQIA+ ในไทย ถูกทำร้ายร่างกายเพราะตัวตนทางเพศ’ … คนผู้นั้นได้ทำร้ายคนอื่นหรือ? เขาสร้างความวุ่นวายหรือ? เพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งแสดงอัตลักษณ์ทางเพศของเขา เขาต้องถูกปฏิบัติจากคนอื่นอย่างลบๆ เป็นเรื่องที่ถูกควรแล้วหรือ? คำตอบคือ “เขาไม่ได้ทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นเลย” จากเรื่องราวข้างต้นนี้เป็นดั่งเรื่องราวตลกร้ายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังพบเห็นได้อยู่บ่อยครั้งในรอบรั้วโรงเรียนมัธยมศึกษา บทสรุปของเรื่องนี้จะคลี่คลายได้ ด้วยแค่สองคำง่ายๆ “ยอมรับ” ถ้าเขาเป็นเพศวิถี แล้วเขาไม่ใช่คนเหรอ เราเป็นเพื่อนกันไม่ได้เหรอ เพียงแค่ยอมรับในความต่างและความหลากหลาย เรื่องราวโหดร้ายเช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นกับคนใดอีก ไม่เพียงเพศวิถี หากแต่หมายถึงว่าทุกเพศที่เกิดขึ้นบนโลก

...
’สีม่วง’ แทนจิตวิญญาณ : ฉลอง Pride Month กับอินเนอร์นักสู้เพื่อคอมมู LGBTQA+

ลือกันมานานนม นับตั้งแต่สมัยยุค 70s หรือ 80s ที่ว่า สีม่วงนั้นเป็นสีของชาว Homosexual แต่แท้จริงแล้ว สีม่วงนั้นหมายถึงจิตวิญญาณที่สู้สุดใจเรื่อยมา แถมแถบสีม่วงในธงรุ้งนั้นหมายถึง Spirit เพื่อเป็นกำลังใจให้กับชาว LGBTQIA+ ที่ถูก Bully อินเนอร์นักสู้… เรามั่นใจว่า ชาว LGBTQIA+ ไม่เป็นสองรองใคร ขนาดยังไม่ใช่ Pride Parade แต่เห็นได้จากกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมาในนาม “ม๊อบตุ้งติ้ง” ก็เป็นอะไรที่ดุเด็ดเผ็ดปังจริงๆ แต่ถ้าหากพูดถึงกิจกรรมที่สู้สุดใจของคนทั้งโลก คงไม่พ้นกับกิจกรรม Pride Month ที่จัดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าโลก แต่ยังเพื่อให้ ชาว LGBTQIA+ ทุกคนมีสิทธิ มีเสียง เฉกเช่นชายหญิงทั่วไป แถมงานนี้ยังจัดทั่วโลกด้วย ในประเทศไทยปีนี้ คาดว่าก็จะมีงานจัดเช่นกัน

...
สีดำและน้ำตาล คือ สีผิวก็ไม่อาจกีดกันความรัก : แม้ว่าผิวจะเป็นอย่างไร ก็มีสิทธิรัก

หลายคนอาจได้ยินเรื่อง #BlackLiveMatters กันบ้างเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติ แต่ดังที่ว่าไว้ “เพราะรักก็คือรัก” สีผิวคนเราจะเป็นเช่นไร แม้พวกเขาจะเพศอะไร พวกเขาก็ยังมีสิทธิรักเช่นเดิม และการที่พวกเขามีสีผิวต่างจากเรา นั่นไม่ได้หมายความว่าสิทธิพวกเขาลดทอนลงไป Progress Pride ซึ่งเป็นผู้อัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ทั่วโลก ก็ตระหนักสิ่งนี้เช่นเดียวกัน กอปรกับเหตุการณ์ประท้วงนำโดย Marsha P. Johnson และกลุ่มเพื่อนๆ บุคคลข้ามเพศ ที่สู้เรียกร้องสิทธิสุดใจในเดือน มิถุนายน 1969 Progress Pride จึงเลือกแถบสีน้ำตาลมาประดับธงไว้เพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือนให้ประวัติศาสตร์และชาวโลกได้รู้ว่า “รักเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าผิวของคุณจะสีอะไร” ไม่เพียงเท่านี้ สีน้ำตาลอุทิศให้แก่ ผู้ติดเชื้อและผู้ที่ลาลับโลกนี้ไปด้วยเชื้อ HIV อีกด้วย

...
สีฟ้า ขาว และชมพู แทน สังคมบุคคลข้ามเพศ : เมื่อเปลี่ยนเพศ คำนำหน้าเพศที่ควรเปลี่ยน ?

สาวดุ้น สาวมีงู สาวสอง สาวหล่อ… เป็นคำที่เราได้ยินจนชินหู ซึ่งเอาไว้ใช้เรียกบุคคลข้ามเพศ แต่เราเคยถามพวกเขาสักครั้งหนึ่งไหมว่า “เรียกแบบนี้ โอเคไหม” อีกหนึ่งความน่าหดหู่ใจของชาว Transgender นั่นคือ ความเสี่ยงที่ถูกใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในสังคม แต่ไม่เพียงเท่านี้ เพราะพวกเขายังต้องเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง จากการเข้าสถานที่ต่างๆ ด้วย และที่เป็นประเด็นมากที่สุด เห็นทีคงไม่พ้นกับ “ปัญหาคำนำหน้าชื่อ” สาวข้ามเพศที่โดนตีตราด้วยคำนำหน้าว่า “นาย” ชายข้ามเพศที่ถูกกำหนดด้วยคำว่า “นางสาว” จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเพศที่เลือก? ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างยาวนาน ความเห็นที่ต่างกันปะทะกันไม่หยุดหย่อน รวมถึงมีการผลักดันด้านกฎหมายด้วย แม้จะยังไม่มีข้อสรุปดีว่าเราสามารถทำได้เมื่อไหร่ แต่ก็นับว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะหลายมหาวิทยาลัย หลากพรรคการเมือง ก็เริ่มยกเลิกคำหน้าระบุเพศแล้ว สำหรับธงสีฟ้า ขาว และชมพูนี้ โบกสะบัดครั้งแรกเมื่อปี 2000 ณ รัฐแอริโซนา เพื่อให้โลกได้รับรู้ว่า ต่อให้เพศจะเปลี่ยนไปเช่นไร ก็ยังมีสิทธิเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ